สัญญาเกี่ยวกับสิทธิทางทรัพย์สินทางปัญญา

สัญญาเกี่ยวกับสิทธิทางทรัพย์สินทางปัญญา

อนันต์ดา อินเทลเลคชวล พร็อพเพอร์ตี้ สร้างชื่อเสียงในฐานะหนึ่งในผู้ร่างสัญญาที่ดีที่สุดในประเทศไทย

ทางเราให้ความช่วยเหลือลูกความของเราทางด้านบริการร่างสัญญา และบริการเจรจาต่อรองเพื่อทำสัญญาหลากหลายประเภท ตัวอย่างเช่น สัญญาทางการค้า ข้อตกลงทางธุรกิจ สัญญาการจ้างงาน สัญญาการรักษาความลับ/ไม่เปิดเผยข้อมูลสัญญาการโอนเทคโนโลยี / โอนสิทธิทางทรัพย์สินทางปัญญา (รวมถึงการโอนสิทธิ สัญญาสิทธิร่วมของเจ้าของ สัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ ฯลฯ ) สำหรับสินค้าประเภทซอฟต์แวร์ และสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิสำหรับผู้ใช้ปลายทาง

ดังต่อไปนี้เป็นคำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับสัญญาประเภทต่าง ๆ สำหรับเจ้าของสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อเพิ่มความเข้มงวดในความคุ้มครอง การวางกลยุทธ์ด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่ดี รวมไปถึงการขึ้นจดทะเบียนสิทธิและสัญญาในทางทรัพย์สินทางปัญญา ท่านสามารถติดต่อเราเพื่อรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับบริการของเรา 

การส่งเสริมความคุ้มครองโดยสัญญามีความสำคัญอย่างไร? 

ธุรกิจส่วนใหญ่นั้นมักมีการคุ้มครองสิทธิทางทรัพย์สินทางปัญญาโดยเริ่มต้นจากการใช้อย่างส่วนตัวภายในองค์กรของตนเอง ซึ่งในส่วนนี้ เจ้าของธุรกิจสามารถขอรับความคุ้มครองในทรัพย์สินทางปัญญา บรรเทาความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น และหลีกเลี่ยงปัญหาด้านกฎหมายได้โดยให้สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาได้รับความคุ้มครองอย่างเพียงพอและเหมาะสม ผ่านทางสัญญาหลากหลายประเภทและข้อกำหนดในสัญญา

โดยในระหว่างก่อนหรือขณะที่วางกลยุทธ์ในการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญานั้น ท่านควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าทรัพย์สินทางปัญญานั้นถูกเก็บรักษาไว้อย่างมิดชิดภายในองค์กร โดยในลักษณะนี้ สัญญาการจ้างงาน สัญญารักษาความลับหรือไม่เปิดเผยข้อมูล และสัญญาการโอนเทคโนโลยี มีบทบาทเกี่ยวข้องโดยตรงกับธุรกิจหลากหลายประเภท

สัญญาการจ้างงาน

ในการประกอบธุรกิจทุกประเภทย่อมต้องมีพนักงานในการดำเนินงาน ซึ่งจำต้องมีการกำหนดเพื่อคุ้มครองด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่เหมาะสม ในขั้นตอนการกำหนดความคุ้มครองด้านทรัพย์สินทางปัญญานั้นไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ และยังทำให้สามารถมั่นใจได้ว่าผลงานที่มีการสร้างสรรค์ขึ้นโดยพนักงานนั้นมีการโอนสิทธิโดยถูกต้องมายังนายจ้าง และ/หรือหากมีกรณีที่พนักงานได้ล่วงรู้ข้อมูลใดๆ ที่อาจไม่สมควรรู้ พนักงานเหล่านั้นก็มีข้อผูกมัดจากสัญญารักษาความลับเพื่อคุ้มครองผลประโยชน์ในทางทรัพย์สินทางปัญญาของธุรกิจนั้นๆ

ทางเราสามารถร่างข้อกำหนดว่าด้วยการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาทุกประเภทซึ่งสามารถปรับใช้กับสถานการณ์จริงได้ ข้อกำหนดเพื่อคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาสามารถคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาในอุตสาหกรรมหลายประเภท นับตั้งแต่บริษัทที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และต้นทุนที่สูงในการพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือกระบวนการต่าง ๆ ไปจนถึงบริษัทที่เพียงต้องการปกป้องตราสินค้า บริการ และค่าความนิยมของตนเท่านั้น

สำหรับอุตสาหกรรมในสาขาที่จำเป็นต้องมีความคุ้มครองด้านทรัพย์สินทางปัญญาเคร่งครัดนั้นได้แก่ อุตสาหกรรมทางด้านเภสัชกรรม เทคโนโลยีสารสนเทศ หรือเทคโนโลยีชีวภาพ โดยข้อกำหนดเกี่ยวกับความคุ้มครองสิทธิทางทรัพย์สินทางปัญญานั้นจำต้องมีการกล่าวไว้ในสัญญาว่าจ้างอย่างชัดเจน ตัวอย่างเช่น กรณีบริษัทด้านเภสัชกรรมซึ่งมีการพัฒนายาชนิดใหม่และมีการว่าจ้างนักวิจัย ในกรณีดังกล่าวจำต้องมีข้อกำหนดด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่เข้มงวดเพื่อปรับใช้กับเหล่านักวิจัยเพื่อให้มั่นใจได้ว่าข้อมูลในการวิจัยซึ่งเป็นความลับ รวมถึงข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ใหม่ (เช่น ยาชนิดใหม่หรือส่วนผสมของยาที่ที่ทำให้เกิดผลอย่างใดอย่างหนึ่ง) หรือกระบวนการ (เช่น กระบวนการผลิต ) ต้องถูกเก็บเป็นความลับ และสิทธิในผลิตภัณฑ์นั้นให้โอนไปยังนายจ้าง ข้อกำหนดการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาขั้นสูงสำหรับสัญญาการจ้างงาน อาจรวมถึงข้อกำหนดการคืนทุนเพื่อให้สามารถมั่นใจได้ว่า ในกรณีที่พนักงานลาออกจากบริษัท และได้มีการยื่นขอรับสิทธิบัตรยาชนิดใหม่ที่พัฒนาขึ้นในระหว่างที่เวลาสัญญาจ้างยังมีผลใช้บังคับ โดยมีการยื่นขอรับสิทธิบัตรไว้ภายในระยะเวลาเพียงไม่นานหลังจากที่แจ้งความประสงค์ลาออกจากหน่วยงาน งานประดิษฐ์ดังกล่าวนั้นย่อมตกเป็นสิทธิของนายจ้าง

ข้อกำหนดเกี่ยวกับการไม่ค้าแข่งนั้นสามารถทำให้สัญญาว่าจ้างสมบูรณ์มากขึ้น โดยย่อมต้องอยู่ภายในขอบเขตที่กฎหมายบัญญัติให้อนุญาตไว้ อย่างไรก็ตาม ควรมีการร่างข้อกำหนดเกี่ยวกับการไม่ค้าแข่งเหล่านี้อย่างรอบคอบเพื่อให้มีผลบังคับใช้ได้จริงในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข้อกำหนดเกี่ยวกับการไม่ค้าแข่งจำต้องมีลักษณะสมเหตุสมผลเพื่อให้พนักงานที่ลาออกไปแล้วสามารถหางานใหม่ได้

สัญญารักษาความลับและสัญญาไม่เปิดเผยข้อมูล

สัญญารักษาความลับเป็นข้อตกลงที่มีผลผูกพันตามกฎหมายระหว่างผู้ให้ข้อมูลและผู้รับข้อมูลที่เป็นความลับ (ซึ่งอาจมีผู้รับข้อมูลหลายราย) สัญญารักษาความลับมีเนื้อหาว่าด้วยข้อกำหนดที่ว่า ข้อมูลที่เป็นความลับใดสามารถเปิดเผยได้หรือไม่สามารถเปิดเผยได้ กล่าวคือ อาจสามารถเปิดเผยได้ในบางกรณีหากเป็นไปตามวัตถุประสงค์ใดๆ ที่ได้รับอนุญาต รวมถึงระยะเวลาที่กำหนดในการปฏิบัติตามหน้าที่เพื่อรักษาความลับ

สัญญารักษาความลับนั้นสามารถเรียกได้หลายแบบ เช่น สัญญาไม่เปิดเผยข้อมูล (non-disclosure agreements) ข้อตกลงการรักษาความลับ (confidentiality deeds) สัญญารักษาความลับร่วมกัน (mutual disclosure agreements) สัญญาว่าด้วยความลับ (secrecy agreement) เป็นต้น สัญญาประเภทนี้มีประโยชน์อย่างยิ่ง โดยเฉพาะการทำให้เกิดโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ เสริมสร้างวิสัยทัศน์ และทำให้สามารถพัฒนาความสัมพันธ์กับคู่ค้ารายใหม่ได้

ข้อมูลที่เป็นความลับนั้นต้องไม่ใช่ข้อมูลที่เผยแพร่อยู่แล้วเป็นสมบัติสาธารณะ (Public Domain) โดยมีตัวอย่างดังต่อไปนี้

  • ทรัพย์สินทางปัญญา (ลิขสิทธิ์ ซอฟต์แวร์ เครื่องหมายการค้า การออกแบบผลิตภัณฑ์ สิ่งประดิษฐ์ ความลับทางการค้า สิทธิบัตร) ซึ่งต้องไม่ใช่ข้อมูลที่เผยแพร่อยู่แล้วเป็นสมบัติสาธารณะ (Public Domain)
  • ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี (ตัวอย่างเช่น ข้อมูลเกี่ยวกับองค์ประกอบของผลิตภัณฑ์ การประดิษฐ์ใหม่ หรือกระบวนการการผลิตใหม่) และความรู้ความชำนาญเชิงปฏิบัติ
  • ข้อมูลทางธุรกิจ การตลาด การเงิน และกลยุทธ์ (อันได้แก่ ข้อมูลลูกค้า รายงาน การวิเคราะห์ การรวบรวม การตีราคา การประมาณค่า การคาดการณ์ การตีความ บันทึก แผนภูมิ แผนภาพ การศึกษา ผลลัพธ์ รายละเอียดข้อมูลจำเพาะ สินทรัพย์ การดำเนินงาน สถานะทางการเงิน การตลาด การวางแผนและนโยบายการกำหนดราคา ผู้สนับสนุน พนักงาน สัญญา ความสัมพันธ์เชิงกลยุทธ์ และข้อมูลที่เป็นกรรมสิทธิ์อื่น ๆ)

โดยปกติบริษัทมักตระหนักถึงมูลค่าของข้อมูลที่เป็นความลับและมักมีมาตรการในการจำกัดการเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวผ่านทางวิธีการรักษาความปลอดภัยต่างๆ (การกำหนดเขตหวงห้าม เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย การป้องกันด้วยระบบดิจิทัล การเข้ารหัสข้อมูล เป็นต้น) อย่างไรก็ตาม บริษัทอาจมีการประเมินความเสี่ยงซึ่งเกิดจากการเปิดเผยข้อมูลต่อบุคคลที่สามไว้ต่ำเกินไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรณีที่คู่ค้าทางธุรกิจล่วงรู้ข้อมูล โดยบริษัทต่างชาติที่ลงทุนในประเทศไทยหรือกำลังมองหาพันธมิตรทางธุรกิจในประเทศไทยนั้นย่อมมีความเสี่ยงในลักษณะดังกล่าวเป็นพิเศษ

เหตุที่ต้องมีการคุ้มครองข้อมูลอันเป็นความลับนั้นมีหลายประการดังต่อไปนี้

  • มีมูลค่าเป็นพิเศษแตกต่างจากข้อมูลทั่วไป
  • ปัจจัยสำคัญคือการรักษาลักษณะที่สามารถขอรับความคุ้มครองทางสิทธิบัตรไว้ให้ได้สำหรับกรณีงานใหม่อันมีลักษณะทางทรัพย์สินทางปัญญา
  • ประการที่สำคัญคือ การรักษาลักษณะอันพึงขอรับสิทธิบัตรของงานทรัพย์สินทางปัญญาใหม่ไว้ไห้ได้ ตัวอย่างเช่น ข้อมูลอันเป็นความลับนั้นอาจเกี่ยวข้องกับลักษณะที่อาจขอรับสิทธิบัตรได้ และอาจเป็นข้อมูลที่เป็นแก่นของการขอรับสิทธิบัตร เนื่องจากงานอันพึงขอรับสิทธิบัตรได้นั้นต้องมีความใหม่ ซึ่งไม่ได้ปรากฏเป็นงานที่มีแพร่หลายอยู่ก่อนแล้วเป็นสมบัติสาธารณะ (Public Domain) ดังนั้น หากข้อมูลอันเป็นความลับนั้นถูกเปิดเผยออกไปโดยไม่ได้มีการจำกัดไว้โดยสัญญารักษาความลับ การเปิดเผยนั้นย่อมส่งผลให้งานถูกเผยแพร่จนกลายเป็นสมบัติสาธารณะ ซึ่งส่งผลต่อความใหม่ และทำให้เกิดความเสี่ยงว่าสิทธิบัตรนั้นจะไม่ได้รับจดทะเบียนในภายหลัง อย่างไรก็ตาม หากเป็นการเปิดเผยข้อมูลอันเป็นความลับซึ่งขัดต่อข้อกำหนดในสัญญารักษาความลับ เจ้าของสิทธิอาจยังสามารถขอรับสิทธิบัตรนั้นได้และยังสามารถเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากการไม่ปฏิบัติตามสัญญารักษาความลับได้อีกด้วย
  • ข้อมูลอันเป็นความลับในบางกรณีอาจไม่ได้มีบทบาทเกี่ยวข้องกับการยื่นขอรับสิทธิบัตร แต่อาจเป็นข้อมูลความลับทางการค้า เป็นต้น

โดยปกติธุรกิจจะทำสัญญาการรักษาความลับกับบุคคลเหล่านี้

  • ทำสัญญากับพนักงานของตนเพื่อให้มั่นใจว่าข้อมูลที่เป็นความลับที่รับรู้กันภายในบริษัทยังคงเป็นความลับอย่างเคร่งครัด และพนักงานไม่สามารถนำข้อมูลที่เป็นความลับดังกล่าวไปเผยแพร่เป็นสาธารณสมบัติได้ ข้อกำหนดการรักษาความลับอาจรวมอยู่ในสัญญาว่าจ้างหรือสามารถใช้สัญญาการรักษาความลับเฉพาะได้ สิ่งสำคัญคือต้องทราบว่าพนักงานอาจต้องรับผิดชอบเป็นรายบุคคล และรับผิดชอบต่อการละเมิดการรักษาความลับ ไม่ว่าจะโดยเจตนาหากพวกเขาเปิดเผยข้อมูลที่เป็นความลับดังกล่าวให้กับคู่แข่ง หรือโดยบังเอิญหากพวกเขาเปิดเผยข้อมูลที่เป็นกรรมสิทธิ์ของนายจ้าง และถือว่าเป็นการเปิดเผยความลับโดยไม่ได้ตั้งใจหรือโดยประมาท
  • ทำสัญญากับผู้ทำสัญญาหรือคู่ค้าทางธุรกิจของพวกเขา ไม่ว่าจะคาดการณ์ไว้หรือไม่ก็ตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อบุคคลภายนอกจำเป็นต้องสร้างต้นแบบ ผลิต ติดตั้ง หรือ แม้แต่จำหน่ายผลิตภัณฑ์หรือบริการที่มีข้อมูลที่เป็นความลับ ในกรณีเช่นนี้สัญญาการรักษาความลับจะระบุว่าผู้รับข้อมูลสามารถใช้ข้อมูลที่เป็นความลับเพื่อวัตถุประสงค์หนึ่ง ๆ โดยเฉพาะ และในระยะเวลาที่จำกัดเท่านั้น
  • ทำสัญญากับลูกค้าของตน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อลูกค้าผูกพันตามสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ หรือเงื่อนไขการใช้งานสำหรับกระบวนการผลิตภัณฑ์หรือบริการ

สัญญาการรักษาความลับหรือข้อกำหนดในการรักษาความลับในสัญญาใดๆ นั้นจำต้องมีความชัดเจนมากพอเพื่อให้สามารถใช้บังคับได้จริง บ่อยครั้งที่คำนิยามของข้อมูลที่เป็นความลับนั้นไม่ชัดเจนมากพอจนทำให้ไม่สามารถระบุได้ว่า ส่วนใดที่เป็นความลับและส่วนใดที่ไม่เป็นความลับ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุทำให้ข้อตกลงในส่วนดังกล่าวตกเป็นโมฆะ โดยในกรณีที่มีชุดข้อมูลใดชุดข้อมูลหนึ่งถูกระบุไว้ว่าเป็นข้อมูลอันเป็นความลับที่พึงต้องรักษาไว้ (เช่น กรณีรหัสต้นฉบับของโปรแกรมคอมพิวเตอร์ หรือองค์ประกอบสำหรับผลิตภัณฑ์ทางเภสัชกรรม หรือรายชื่อลูกค้าที่เป็นความลับ) ทางเราแนะนำอย่างยิ่งให้สัญญามีการระบุไว้ชัดเจนว่า ชุดข้อมูลนั้น ๆ เป็น “ความลับ”

ทางเราแนะนำให้ประทับตราคำว่า “เป็นความลับ” (ทั้งในภาษาอังกฤษและภาษาไทย) ลงบนข้อมูล เพื่อให้ผู้ที่พบเห็นเข้าใจว่าข้อมูลดังกล่าวเป็นความลับ และทางเราแนะนำให้มีการแปลสัญญาเป็นภาษาไทยเมื่อดำเนินการกับบริษัทในประเทศไทยเนื่องจากคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายจำต้องเข้าใจขอบเขตของสัญญาอย่างชัดเจน

สัญญาการโอนเทคโนโลยี/ สัญญาการโอนทรัพย์สินทางปัญญา 

สัญญาการโอนเทคโนโลยี/ทรัพย์สินทางปัญญามีหลากหลายประเภท รวมถึงข้อตกลงการใช้ตัวอย่างวัตถุเพื่อการวิจัย สัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา หรือสัญญาการโอนสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา สัญญากลยุทธ์ทรัพย์สินทางปัญญา หรือสัญญาร่วมค้า (Joint-venture) เช่น สัญญาการพัฒนาร่วมกัน หรือสัญญาการตลาดร่วม

วัตถุประสงค์หลักของสัญญาการถ่ายทอดเทคโนโลยี/สัญญาการถ่ายทอดทรัพย์สินทางปัญญา คือการกำหนดอย่างเป็นทางการว่าผู้ใดเป็นเจ้าของสิทธิในทางทรัพย์สินทางปัญญา ใช้บังคับได้ในอาณาเขตใดบ้าง รวมถึงการกำหนดราคาของทรัพย์สินที่จับต้องไม่ได้ (การกำหนดราคาในกรณีของการโอนสิทธิ ค่าอนุญาตให้ใช้สิทธิ หรือค่าลิขสิทธิ์ในกรณีการอนุญาตให้ใช้สิทธิหรือกรณีสัญญาแฟรนไชส์) หรือประเมินมูลค่าส่วนแบ่งสำหรับคู่สัญญาแต่ละฝ่ายในแง่ของทรัพย์สินทางปัญญา (เพื่อให้สามารถร่วมข้อตกลงพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ การร่วมทุน การวิจัยร่วม และการพัฒนาร่วม)

ข้อตกลงลักษณะนี้เป็นการกำหนดไว้ล่วงหน้าอย่างแน่ชัดว่า ทรัพย์สินทางปัญญานั้นมีอยู่จริงและมีมูลค่าจริงเป็นจำนวนเท่าใด

โปรดพิจารณาตารางด้านล่างแสดงข้อมูลโดยสรุปเกี่ยวกับบทบาทและวัตถุประสงค์หลักของสัญญาการถ่ายทอดเทคโนโลยี/ทรัพย์สินทางปัญญาที่จัดทำขึ้นเพื่อให้เกิดความตระหนักถึงการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาและกลยุทธ์ของทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งไม่ใช่แต่เพียงการจดทะเบียนและบังคับใช้สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาเท่านั้น แต่ยังต้องมั่นใจได้ว่ามีการร่างสัญญาที่ถูกต้องและเหมาะสมอีกด้วย

ประเภทของสัญญา วัตถุประสงค์หลัก คำแนะนำสำหรับการบังคับใช้จริง
สัญญาโอนสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อโอนความเป็นเจ้าของจากบุคคลหนึ่งไปยังอีกบุคคลหนึ่ง (สามารถทำได้ทั้งกรณีสิทธิทางทรัพย์สินทางปัญญาที่ได้รับจดทะเบียนแล้ว หรือทรัพย์สินทางปัญญาที่ยังไม่ได้รับจดทะเบียน เช่น ความลับทางการค้า หรืองานอันสามารถขอรับสิทธิบัตรได้) เนื่องจากการโอนสิทธิคือการยุติความเป็นเจ้าของของเจ้าของสิทธิเดิมอย่างถาวร คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายจึงต้องมีการตกลงราคาซื้อขายสิทธิ

 

ในกรณีของสิทธิที่ได้รับจดทะเบียนแล้ว สัญญาการโอนสิทธิ (หรือข้อตกลงการโอนสิทธิ) ต้องมีการยื่นไว้ต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อบันทึกข้อมูลการโอนสิทธิของเจ้าของสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาอย่างเป็นทางการ

สัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา เพื่ออนุญาตให้บุคคลหนึ่งหรือบุคคลหลายรายใช้สิทธิ หรือใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญานั้น (เครื่องหมายการค้า ลิขสิทธิ์ สิทธิบัตรการออกแบบ ฯลฯ ) ของผู้อนุญาตให้ใช้สิทธิ เนื่องจากเป็นกรณีที่มีการอนุญาตให้ใช้ทรัพย์สินทางปัญญา/สิทธิของผู้ให้อนุญาตชั่วคราว เนื้อหาของสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิจำต้องมีการระบุขอบเขตอย่างชัดเจนของการอนุญาตให้ใช้สิทธิ (ลักษณะการใช้ อาณาเขต ระยะเวลา ค่าธรรมเนียมในการใช้สิทธิ ลักษณะการครอบครองงานทรัพย์สินทางปัญญาใหม่ การรับประกัน การเลิกสัญญา การรักษาความลับ ฯลฯ)

ทางเราแนะนำให้ท่านบันทึกสัญญาดังกล่าวที่กรมทรัพย์สินทางปัญญา และหากจำเป็นอาจแจ้งข้อมูลเพื่อระบุตัวตนของผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิแก่กรมศุลกากร

สัญญาธุรกิจแฟรนไชส์ที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทางปัญญา เพื่ออนุญาตให้บุคคลหนึ่งหรือบุคคลหลายราย ใช้ทรัพย์สินทางปัญญาของเจ้าของสิทธิ(franchisor) โดยปกติสัญญาธุรกิจแฟรนไชส์จะลงเนื้อหาของข้อตกลงโดยละเอียดเพื่อกำหนดขอบเขตของคู่สัญญาในการใช้ทรัพย์สินทางปัญญา ลักษณะของงาน ฯลฯ อันเป็นสิทธิของเจ้าของสิทธิ (franchisor) ในส่วนอื่นนั้นทางเราแนะนำในแนวทางเดียวกันกับกรณีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาข้างต้น
การโอนเทคโนโลยี/วัตถุ เพื่ออนุญาตให้ผู้รับสิทธิหนึ่งรายหรือมากกว่าหนึ่งรายใช้วัตถุหรือเทคโนโลยีหนึ่งๆ ตามวัตถุประสงค์ที่อนุญาต สัญญาลักษณะนี้เกี่ยวข้องกับการใช้วัตถุ/เทคโนโลยีภายใต้ข้อกำหนดความเป็นเจ้าของ รวมถึงข้อกำหนดด้านความเป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาใหม่อันเกิดจากผลงานการสร้างสรรค์ทรัพย์สินทางปัญญาโดยผู้รับอนุญาตให้ใช้วัตถุ/เทคโนโลยีนั้น
พันธมิตรเชิงกลยุทธ์ พันธมิตรเชิงกลยุทธ์เป็นความสัมพันธ์ระหว่างคู่สัญญาสองฝ่ายหรือมากกว่านั้นซึ่ง

นำทรัพยากรที่แตกต่างแต่ส่งเสริมซึ่งกันและกัน เพื่อนำสมรรถนะดังกล่าวมาใช้เพื่อวัตถุประสงค์ร่วมกัน รวมไปถึงการทำวิจัยและการพัฒนาร่วมกัน การผลิตร่วม การร่วมทุน ส่งเสริมการขายร่วม และการทำสัญญาการตลาด ฯลฯ

พันธมิตรเชิงกลยุทธ์เป็นความสัมพันธ์เชิงปฏิบัติการและซับซ้อน ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับการอนุญาตให้ใช้สิทธิ การต่างตอบแทนการใช้สิทธิ การเป็นเจ้าของร่วมกัน สิทธิที่มีลักษณะเฉพาะ (สิทธิในการผลิต สิทธิการทำการตลาด) โดยค่าตอบแทนหรือส่วนแบ่งจะมีการกำหนดไว้อย่างชัดเจน และมักขึ้นอยู่กับการพัฒนาว่าไปได้ไกลเพียงใด ข้อกำหนดด้านการเป็นเจ้าของของทรัพย์สินทางปัญญาใหม่เป็นเรื่องจำเป็นเช่นเดียวกัน และเป็นส่วนสำคัญที่เจ้าของสัญญาลักษณะนี้ต้องปรึกษากับทนายด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่เชี่ยวชาญโดยเฉพาะ ด้วยขอบข่ายทางกฎหมายไทยนั้นแท้จริงแล้วไม่อนุญาตให้มีการกำหนดข้อสัญญาใดๆ ที่ขัดต่อการแข่งขันทางการค้าอย่างเป็นธรรม และจำกัดให้มีการทำธุรกิจอย่างซื่อสัตย์ภายใต้ข้อสัญญาทุกประเภท

สัญญาทางธุรกิจ

นอกเหนือจากสัญญาเฉพาะทางทรัพย์สินทางปัญญา เช่น สัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ แฟรนไชส์ และเทคโนโลยีแล้ว ทางเราแนะนำให้เพิ่มข้อกำหนดด้านทรัพย์สินทางปัญญาในสัญญาทางการค้าหรือธุรกิจทุกประเภท

ทั้งนี้ ไม่ว่าในกรณีการผลิต การจัดจำหน่ายหรือการค้า ทางเราแนะนำให้ท่านตรวจสอบให้แน่ชัดว่าข้อตกลงเหล่านั้นมีข้อกำหนดด้านทรัพย์สินทางปัญญาหรือไม่ อันได้แก่ กำหนดเกี่ยวกับความเป็นเจ้าของ ระยะเวลาการใช้สิทธิทางทรัพย์สินทางปัญญา การรักษาความลับด้านทรัพย์สินทางปัญญา ความเป็นไปได้ในการเป็นช่วงสัญญา/อนุญาตให้ใช้สิทธิช่วงในทรัพย์สินทางปัญญา การชดใช้ค่าเสียหายกรณีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา และการรับผิดในการใช้เทคโนโลยีที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ ฯลฯ

หากสองบริษัททำธุรกิจร่วมกันโดยไม่มีข้อตกลงอย่างเป็นทางการ หรือไม่มีข้อกำหนดด้านทรัพย์สินทางปัญญาๆ ในการตกลงทางการค้านั้น ย่อมส่งผลให้เกิดความยุ่งยากซับซ้อนได้

สถานการณ์ดังต่อไปนี้เป็นสถานการณ์ตัวอย่างที่เกิดขึ้นจริงบ่อยครั้งในประเทศไทย ซึ่งส่งผลให้การอ้างสิทธิความเป็นเจ้าของในทางทรัพย์สินทางปัญญานั้นเป็นเรื่องยากกว่าที่คิด

  • การผลิต/จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผ่านบริษัทในท้องถิ่นโดยปราศจากสัญญาใด ๆ

ในบางครั้งบริษัทต่างชาติที่ทำธุรกิจในประเทศไทยอาจพลาดพลั้ง กล่าวคือ อาจลืมการยื่นขอจดทะเบียนแบรนด์ของตน หรืออาจให้ผู้ผลิต / ผู้จัดจำหน่ายในท้องถิ่นที่ทำธุรกิจดำเนินการจดทะเบียนแบรนด์ให้ (หรือสร้างแบรนด์ใหม่ที่เหมาะสมกับตลาดในประเทศ เช่น แบรนด์ภาษาไทย) โดยไม่มีข้อตกลงใด ๆ ที่ระบุว่าฝ่ายใดเป็นเจ้าของสิทธิในเครื่องหมายการค้าอันอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงทางการค้าได้ เนื่องจากในระหว่างระยะเวลาหลายปีที่ผู้ผลิต/ผู้จัดจำหน่ายท้องถิ่นใช้หรือโฆษณาแบรนด์เหล่านั้น (และในบางกรณีอาจมีการจดทะเบียนแบรนด์ดังกล่าวภายใต้ชื่อของตัวเอง) สุดท้ายมักจะอ้างตนว่าเป็นเจ้าของแบรนด์ดังกล่าวในประเทศไทย เพราะไม่มีข้อตกลงทางสัญญา จึงอาจทำให้เกิดการตีความที่แตกต่างกันว่าใครควรเป็นเจ้าของสิทธิดังกล่าว นอกจากนี้ อาจมีกรณีทำนองเดียวกันเกิดขึ้นเมื่อมีการเปิดเผยความลับทางการค้าโดยปราศจากสัญญาการรักษาความลับที่เหมาะสม การอ้างสิทธิความเป็นเจ้าของความลับทางการค้าและป้องกันไม่ให้อีกฝ่ายใช้ต่อไป จึงกลายเป็นกรณีที่ทำได้ยากยิ่ง

  • กรณีบริษัทว่าจ้างบริษัทอื่นเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ประกอบด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา

ในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นบ่อยคือ บริษัท ก ว่าจ้างให้บริษัท ข พัฒนาซอฟต์แวร์ใหม่ บริษัท ข จึงผลิตซอฟต์แวร์ให้กับบริษัท ก แต่หลังจากนั้นตัดสินใจใช้ซอฟต์แวร์ดังกล่าวเพื่อจุดประสงค์ของตนเองหรือเพื่อจำหน่าย/อนุญาตให้ใช้สิทธิแก่บริษัทอื่น (รวมถึงคู่แข่งของบริษัท ก) ในกรณีนี้ บริษัท ข อาจอ้างลิขสิทธิ์บางส่วนในซอฟต์แวร์ที่ตนผลิตได้ เว้นแต่จะมีการกำหนดไว้เป็นอย่างอื่นโดยชัดแจ้ง

คำแนะนำที่ปฏิบัติได้จริง

  • เริ่มต้นด้วยการระบุประเภทของทรัพย์สินทางปัญญาของท่าน
  • จัดลำดับความสำคัญว่าต้องรับความคุ้มครองในส่วนใดก่อนและหลัง
  • กำหนดกลยุทธ์และงบประมาณในการคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่ชัดเจนเพื่อให้ต้องตรงกับวัตถุประสงค์ทางธุรกิจของท่าน
  • ตรวจสอบสภาพแวดล้อมเพื่อให้แน่ใจว่าท่านสามารถใช้ทรัพย์สินทางปัญญาของท่านได้อย่างอิสระ
  • ตรวจสอบให้แน่ใจว่าท่านได้ควบคุมการเปิดเผยและความเป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาของท่าน ผ่านการทำสัญญาคุ้มครองสิทธิในทางทรัพย์สินทางปัญญาแล้ว