ลิขสิทธิ์

การคุ้มครองลิขสิทธิ์ในประเทศไทย

อนันต์ดา อินเทลเลคชวล พร็อพเพอร์ตี้ ช่วยให้ท่านดำเนินการเพื่อบังคับสิทธิในลิขสิทธิ์ของท่านในประเทศไทยและทุกประเทศทั่วโลกได้

ดังต่อไปนี้เป็นการตอบคำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ในประเทศไทย คำแปลพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ประเทศไทยฉบับภาษาอังกฤษสามารถดูได้ ที่นี่

ลิขสิทธิ์เป็นทรัพย์สินทางปัญญาที่ให้สิทธิความเป็นเจ้าของแก่ผู้สร้างสรรค์ผลงานต้นฉบับอันเป็นการแสดงออกซึ่งความคิดอันเป็นรูปธรรม โดยปกติการแสดงออกในลักษณะดังกล่าวครอบคลุมถึงงานทางวรรณกรรม งานเสียง-ภาพ ซอฟต์แวร์ งานประติมากรรม รูปภาพ งานด้านสถาปัตยกรรม และงานศิลปะประยุกต์

ลิขสิทธิ์นั้นให้สิทธิแก่ผู้สร้างสรรค์ นักแสดง และผู้สร้างสรรค์อื่น ทั้งสิทธิในทางศีลธรรม และสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในการใช้ เผยแพร่ และทำการค้าต่องานอันมีลิขสิทธิ์ของตน ท่านสามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสิทธิของผู้สร้างสรรค์ได้ที่นี่

คำแนะนำ
ประโยชน์ของลิขสิทธิ์ที่ได้มีการจดแจ้งไว้แล้ว  คำแนะนำแก่เจ้าของลิขสิทธิ์
  • ให้สิทธิแต่เพียงผู้เดียวแก่ผู้สร้างสรรค์ผลงานในการใช้ เผยแพร่ และทำการค้าต่องานอันมีลิขสิทธิ์ของตน
  • ได้รับวันจดแจ้งอย่างเป็นทางการ ซึ่งเป็นประโยชน์ในการปกป้องสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาและสัญญาทางการค้า
  • ง่ายต่อการบังคับใช้สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา ทั้งทางกระบวนการทางแพ่งหรือกระบวนการทางอาญา
  • ควรมีการจดแจ้งลิขสิทธิ์สำหรับงานศิลปกรรมและซอฟต์แวร์
  • ควรตรวจสอบให้แน่ชัดว่าผลงานอันมีลิขสิทธิ์ซึ่งสร้างสรรค์โดยลูกจ้างและบุคคลที่สาม ได้มีการดำเนินการโอนสิทธิอย่างถูกต้องและเหมาะสม
  • ระบุข้อความสงวนลิขสิทธิ์ลงบนสินค้า บรรจุภัณฑ์ และบนเว็บไซต์ของท่าน
  • บังคับใช้ลิขสิทธิ์ดังกล่าวจริง เพื่อหลีกเลี่ยงความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนว่างานดังกล่าวตกเป็นสาธารณสมบัติแล้วหรือไม่

ดังเป็นที่ทราบโดยทั่วกันว่า ประเทศไทยเป็นสมาชิกในอนุสัญญาเบิร์นเพื่อการคุ้มครองงานวรรณกรรมและงานศิลปกรรม ด้วยเหตุนี้ ประเทศไทยสามารถให้ความคุ้มครองแก่งานซึ่งสร้างสรรค์ในต่างประเทศหรือโดยผู้สร้างสรรค์ชาวต่างประเทศ และงานเหล่านี้ย่อมได้รับความคุ้มครองทางลิขสิทธิ์อย่างเต็มที่ดังเช่นงานซึ่งสร้างสรรค์ในประเทศ

ภายใต้กฎหมายไทย ลิขสิทธิ์ให้ความคุ้มครองแก่เจ้าของผลงานเฉพาะในกรณีที่มีการแสดงออกซึ่งความคิดอันเห็นเป็นรูปธรรม ผ่านการแสดงออกเป็นงานอันหลากหลายประเภท โดยมีนัยสำคัญคือการคุ้มครองการแสดงออกทางความคิด มิใช่การคุ้มครองความคิด หรืออีกนัยหนึ่งคือ ลิขสิทธิ์นั้นให้ความคุ้มครองและให้ความสำคัญต่อรูปแบบของการแสดงออกยิ่งกว่าเนื้อหาสาระของงาน จึงมีเฉพาะแต่รูปแบบงานบางประเภทเท่านั้นที่ได้รับการคุ้มครองทางลิขสิทธิ์

ความคุ้มครองทางลิขสิทธิ์นั้นไม่ได้มีความหมายครอบคลุมถึง ความคิด ขั้นตอน กระบวนการ ระบบวิธีการของการใช้งานหรือการดำเนินงาน แนวคิด หลักการ การค้นพบ หรือทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์หรือทางคณิตศาสตร์

นอกเหนือจากขอบเขตกำหนดข้างต้น การคุ้มครองทางลิขสิทธิ์นั้นขยายไปถึงการแสดงออกอย่างเป็นรูปธรรมของความคิดในลักษณะดังนี้

  • งานวรรณกรรม (โฆษณา หนังสือ นิตยสาร ข่าว เว็บไซต์ และอื่น ๆ)
  • ซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์
  • ดนตรีกรรม
  • นาฏกรรม (ท่าทาง การเต้น การแสดง ฯลฯ)
  • งานศิลปกรรม (เช่น งานวาดภาพและลงสี งานประติมากรรม งานพิมพ์บนหิน งานสถาปัตยกรรม ภาพถ่าย ภาพประกอบหรืองานอื่น ๆ ของศิลปะประยุกต์)
  • งานโสตทัศนวัสดุ
  • งานภาพยนตร์
  • สิ่งบันทึกเสียง
  • งานแพร่เสียงแพร่ภาพ

งานอันมีลิขสิทธิ์นั้นมีอายุความคุ้มครองจำกัดตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในกฎหมาย ซึ่งแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับประเภทของงานนั้นๆ ประการสำคัญที่ควรตระหนักคือลิขสิทธิ์นั้นเป็นสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาประเภทเดียวที่มีผลบังคับใช้โดยปราศจากการจดทะเบียนหรือการจดแจ้ง ดังนั้น การบังคับใช้สิทธิดังกล่าวเพื่อการค้าหรือปกป้องสิทธิจากการละเมิดบางครั้งจึงทำได้ยากในทางข้อเท็จจริงหากเจ้าของลิขสิทธิ์ไม่ได้มีการจดแจ้งงานของตนไว้ นอกจากนี้ สำหรับงานอันมีลิขสิทธิ์บางประเภทนั้น ระยะเวลาการคุ้มครองลิขสิทธิ์นั้นเริ่มขึ้นเมื่อมีการโฆษณางานนั้น มิใช่เริ่มตั้งแต่เมื่อสร้างสรรค์งาน

 

ลิขสิทธิ์นั้นให้ความคุ้มครองแก่ผู้สร้างสรรค์ผลงาน ดังนั้นคำขอการจดแจ้งลิขสิทธิ์จึงมีการพิจารณาสิทธิความเป็นเจ้าของของผู้ขอความคุ้มครองในงานนั้น และพิจารณาว่างานนั้นมีการโฆษณาแล้วหรือไม่

เจ้าของลิขสิทธิ์เพียงผู้เดียวเท่านั้นที่สามารถขอจดแจ้งลิขสิทธิ์ได้ โดยในส่วนใหญ่นั้นแม้ผู้สร้างสรรค์ผลงานด้วยตนเองจะอ้างตนว่าเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ แต่ก็มีบางกรณีเช่นเดียวกันที่มีบุคคลอื่นซึ่งมิใช่ผู้สร้างสรรค์สามารถอ้างสิทธิเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์อันชอบด้วยกฎหมายได้ เช่น ในกรณีนายจ้าง ผู้ซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ของงานที่ลูกจ้างสร้างสรรค์ขึ้นในทางการจ้าง เว้นแต่จะได้มีสัญญาตกลงไว้เป็นอย่างอื่น และยังมีบางกรณีที่เจ้าของลิขสิทธิ์นั้นมิใช่ผู้สร้างสรรค์เองแต่เป็นผู้รับโอนลิขสิทธิ์มาจากผู้สร้างสรรค์ และการรับมรดกลิขสิทธิ์จากเจ้ามรดก กรณีตัวอย่างเช่น กรณีลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ซึ่งมักมีการยื่นจดแจ้งภายใต้ชื่อของบริษัทมากกว่าบุคคลธรรมดา หรือชื่อของผู้สร้างสรรค์ในฐานะบุคคคลธรรมดา (ซึ่งโดยปกติแล้วบุคคลธรรมดาเหล่านั้นเป็นพนักงานของบริษัทผู้ยื่นขอจดแจ้งนั่นเอง)

การจดแจ้งลิขสิทธิ์นั้นส่งผลในการสร้างฐานการรับรู้ในเชิงสิทธิตามกฎหมายของเจ้าของผลงาน ลิขสิทธิ์ที่จดแจ้งนั้นก่อให้เกิดความคุ้มครองที่สามารถใช้ยันต่อผู้ใดก็ตามที่กล่าวอ้างเพื่อหักล้างข้อมูลใดๆ เกี่ยวกับความเป็นเจ้าของและสิทธิในการใช้

กระบวนการการจดแจ้งลิขสิทธิ์ในประเทศไทยนั้นประกอบด้วยขั้นตอนการยื่นคำขอ การตรวจสอบคำขอ การรับคำขอ การรับข้อมูลเข้าระบบอิเล็กทรอนิกส์ และการออกหนังสือรับรองการจดแจ้งลิขสิทธิ์ โดยปกติแล้วนั้นกระบวนการทุกขั้นตอนรวมใช้เวลาทั้งสิ้น 2-4 เดือน

กระบวนการจดแจ้งลิขสิทธิ์ในประเทศไทย (แบบย่อ)

รายการด้านล่างเอกสารประกอบคำขอสำหรับการจดแจ้งลิขสิทธิ์

  • คำบรรยายโดยย่อของประเภทและเนื้อหาสาระของงานอันมีลิขสิทธิ์
  • ชื่อของงานอันมีลิขสิทธิ์
  • ชื่อ ที่อยู่ และสัญชาติของผู้จดแจ้ง
  • ชื่อ ที่อยู่ และสัญชาติ และวันเดือนปีเกิดของผู้สร้างสรรค์
  • ข้อมูลเกี่ยวกับการได้มาซึ่งงานลิขสิทธิ์ หากพึงรับจดแจ้งได้ และระบุประเทศที่งานอันมีลิขสิทธิ์นั้นสร้างสรรค์ขึ้น
  • วันที่สร้างสรรค์ผลงาน และวันที่โฆษณางานในกรณีเป็นงานที่เคยเผยแพร่มาก่อน
  • ข้อมูลเกี่ยวกับการจดแจ้งผลงานในต่างประเทศ
  • คำอนุญาตให้เผยแพร่ลิขสิทธิ์

ในกรณีของคำขอจดแจ้งลิขสิทธิ์สำหรับซอฟต์แวร์ ให้มีการยื่นรหัสโปรแกรม/รหัสแหล่งที่มา (program/source code) จำนวนสิบหน้าแรกและสิบหน้าหลัง (หรือโปรแกรมทั้งหมดหากต้องการ)

ลิขสิทธิ์ให้สิทธิแต่เพียงผู้เดียวแก่ผู้สร้างสรรค์ในการควบคุมการใช้งานในเชิงเศรษฐศาสตร์ในงานของตน โดยสิทธิแต่เพียงผู้เดียวดังกล่าวนั้นมีดังต่อไปนี้

  • การทำซ้ำงาน (เช่น การตีพิมพ์หนังสือ การผลิตภาพยนตร์ในรูปแบบดีวีดี ฯลฯ)
  • เผยแพร่แจกจ่ายสำเนางานต่อสาธารณชน
  • การใช้เช่าสำเนางาน
  • การแปลหรือดัดแปลงงานโดยไม่จำต้องได้รับอนุญาต
  • จัดงานแสดงต่อสาธารณชน หรือการสื่อสารงานต่อสาธารณชน

กรณีศึกษาที่น่าสนใจคือ ประเทศไทยนั้นมีการตีความหลักสุจริต (Fair Use) ไว้อย่างกว้างขวาง กล่าวคือ การทำซ้ำหรือทำสำเนาของงานอันมีลิขสิทธิ์นั้นหากมิได้ก่อให้เกิดผลกำไรนั้นไม่ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ลิขสิทธิ์ยังให้สิทธิในทางศีลธรรมซึ่งให้ความคุ้มครองหลักการและชื่อเสียงของผู้สร้างสรรค์ผลงานอีกด้วย

เจ้าของสิทธิในทางลิขสิทธิ์นั้นพึงมีลิขสิทธิ์เหนืองานของตนเช่นเดียวกันโดยไม่ว่าจะมีการจดแจ้งไว้หรือไม่ อย่างไรก็ตาม การจดแจ้งนั้นเป็นกลยุทธ์ที่มีประโยชน์มาก ซึ่งทางเราแนะนำเป็นอย่างยิ่งให้ท่านจดแจ้งลิขสิทธิ์เพื่อแสดงหลักฐานความเป็นเจ้าของสิทธิ หรือเพื่อให้มีการระบุวันที่สร้างสรรค์และวันที่ประกาศโฆษณา (ซึ่งข้อมูลดังกล่าวย่อมเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในกรณีมีการอ้างสิทธิในผลงานที่เกิดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกัน)การจดแจ้งลิขสิทธิ์ยังทำให้สามารถบังคับใช้สิทธิได้ง่ายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในลักษณะของการเรียกให้ชำระค่าเสียหายเป็นตัวเงินหรือเรียกให้มีการลงโทษทางอาญาแก่ผู้ละเมิดลิขสิทธิ์ เจ้าของลิขสิทธิ์ที่จดแจ้งลิขสิทธิ์ไว้แล้วไม่จำเป็นต้องแสดงหลักฐานพิสูจน์สิทธิของตน โดยผู้ละเมิดต้องพิสูจน์ให้ได้ว่ามีสิทธิดีกว่า หรือพิสูจน์ว่าเจ้าของลิขสิทธิ์ไม่ใช่เจ้าของลิขสิทธิ์ที่ถูกต้องตามกฎหมาย อีกนัยหนึ่งคือผู้ละเมิดต้องแบกรับภาระการพิสูจน์ โดยให้มีข้อสันนิษฐานเบื้องต้นไว้ว่าเจ้าของของลิขสิทธิ์ที่จดแจ้งนั้นเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ที่แท้จริง

สิทธิและความคุ้มครองลิขสิทธิ์นั้นขึ้นอยู่กับสถานะบุคคลของเจ้าของลิขสิทธิ์ว่าเป็นบุคคลธรรมดาหรือเป็นนิติบุคคล และจำต้องพิจารณาด้วยว่างานดังกล่าวมีการโฆษณามาก่อนแล้วหรือไม่

กรณีงานที่ไม่เคยมีการโฆษณามาก่อนนั้น ลิขสิทธิ์ภายใต้ชื่อบุคคลธรรมดาได้รับความคุ้มครองตามอายุขัยของเจ้าของผลงานและนับต่อไปอีก 50 ปี นับแต่เจ้าของผลงานเสียชีวิต หากงานดังกล่าวมีเจ้าของหลายราย การคุ้มครองในลิขสิทธิ์ให้มีไปจนกว่าจะถึงอายุขัยของเจ้าของผลงานรายสุดท้าย และให้มีความคุ้มครองต่อไปอีก 50 ปี นับแต่เจ้าของผลงานรายสุดท้ายเสียชีวิตลง

งานอันมีลิขสิทธิ์ที่มีการโฆษณามาก่อนกรณีเจ้าของเป็นบุคคลธรรมดานั้น ให้มีอายุความคุ้มครอง 50 ปีนับจากวันที่โฆษณาครั้งแรก

งานอันมีลิขสิทธิ์ที่มีการโฆษณามาก่อนกรณีเจ้าของเป็นนิติบุคคลนั้น ให้มีอายุความคุ้มครอง 50 ปีนับจากวันที่โฆษณาครั้งแรก

งานอันมีลิขสิทธิ์ที่ไม่เคยมีการโฆษณามาก่อนกรณีเจ้าของเป็นนิติบุคคลนั้น ให้มีอายุความคุ้มครอง 50 ปี นับจากวันที่สร้างสรรค์ผลงาน

ข้อยกเว้นของอายุความคุ้มครอง 50 ปี คือ กรณีอายุความคุ้มครองลิขสิทธิ์ของงานศิลปะประยุกต์ โดยงานศิลปะประยุกต์นั้นได้รับความคุ้มครอง 25 ปี นับจากวันที่สร้างสรรค์ผลงาน หรือวันที่โฆษณางานโดยขึ้นอยู่กับว่าเหตุการณ์ใดเกิดขึ้นภายหลังสุด

นอกจากการใช้งานในเชิงพาณิชย์สำหรับงานอันมีลิขสิทธิ์โดยตรง เจ้าของลิขสิทธิ์ยังสามารถโอนสิทธิหรืออนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์ได้ การโอนสิทธิคือการโอนสิทธิในความเป็นเจ้าของแบบถาวร ซึ่งไม่ควรสับสนกับการอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์ ทั้งนี้ คู่สัญญาสามารถทำสัญญาโอนสิทธิในลิขสิทธิ์ในรูปแบบของสัญญาซื้อขายได้ โดยคู่สัญญาพึงให้ความสำคัญต่อการเจรจาต่อรอง และการร่างสัญญาการโอนสิทธิในลิขสิทธิ์ การโอนสิทธิในลิขสิทธิ์นั้นจำต้องมีการจดทะเบียนกับกรมทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อให้โอนสิทธิในลิขสิทธิ์มีผลใช้บังคับได้ในประเทศไทย

การอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์นั้นมีผลให้ผู้อนุญาตให้ใช้สิทธิ (เจ้าของลิขสิทธิ์) อนุญาตให้ผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิ (ผู้รับสิทธิ) ในการใช้ ทำซ้ำหรือใช้ลิขสิทธิ์ในทางการค้าชั่วคราว หนึ่งในตัวอย่างของความสำเร็จในการอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์ระหว่างประเทศมีจุดเริ่มต้นจากประเทศไทย คือกรณีตัวอย่างลูกความของเรา “เอเลเฟ่น พาเหรด (Elephant Parade) ®”

แนวคิดของ “เอเลเฟ่น พาเหรด (Elephant Parade) ®” มีการผสมผสานที่แปลกใหม่ของศิลปะ ธุรกิจ และงานการกุศล งานแบบจำลองรูปช้างนั้นมีการวาดและลงสีโดยศิลปินท้องถิ่นและชาวต่างชาติที่โด่งดัง มีการจัดแสดงในเมืองที่มีชื่อเสียง และประมูลในงานการกุศล ในตัวอย่างนี้ทั้งรูปทรง และการตกแต่งของช้างแกะสลักแต่ละตัวนั้นได้รับความคุ้มครอง และบริษัท “เอเลเฟ่น พาเหรด (Elephant Parade) ®” ได้มีการอนุญาตให้ใช้สิทธิเพื่อจำหน่ายแบบจำลองรูปช้างช้างนับร้อยตัว รวมถึงการจำหน่ายสินค้าซึ่งปรากฏรูปภาพของแบบจำลองรูปช้างที่มีชื่อเสียง

ในบางกรณีการอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์อาจซับซ้อนมากกว่าการโอนสิทธิธรรมดาหรือการโอนลิขสิทธิ์ โดยส่วนมากนั้น การทำข้อตกลงอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์หรือในแง่ของการให้เช่าสิทธินั้นมีประโยชน์ กล่าวคือทรัพย์สินที่ให้เช่านั้นเป็นทรัพย์สินทางปัญญาของงานที่สร้างสรรค์ขึ้น สิทธิในการใช้งานทรัพย์สินจึงเหมือนกับการใช้ทรัพย์สินให้เช่าอื่น ๆ โดยประเด็นสำคัญนั้นอยู่ที่ว่า สัญญาการอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์และสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในกรณีปกตินั้น ได้มีการกล่าวถึงรูปแบบในการอนุญาตให้ใช้สิทธิ ระยะเวลาการอนุญาตให้ใช้สิทธิ และการใช้งานทรัพย์สินทางปัญญาซึ่งเป็นสิทธิตามสัญญานั้นไว้ว่าอย่างไร

สัญญาการอนุญาตให้ใช้สิทธินั้นอาจเป็นลักษณะการให้ใช้สิทธิแต่เพียงผู้เดียว (exclusive) หรือการอนุญาตให้ใช้สิทธิแบบที่มิได้เจาะจงไว้แต่เพียงผู้เดียว (non-exclusive) ก็ได้ สัญญาการอนุญาตให้ใช้สิทธิแต่เพียงผู้เดียวนั้นคือการอนุญาตให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งแต่เพียงผู้เดียวเท่านั้นให้สามารถใช้สิทธิ โดยมีข้อกำหนดในแง่ขอบเขต บริบท พื้นที่ อัตราส่วนทางการตลาด หรือระยะเวลา และมีลักษณะป้องกันไม่ให้ผู้อนุญาตให้ใช้สิทธินั้น มีการอนุญาตให้ใช้สิทธิในทำนองเดียวกันแก่ผู้อื่นในระหว่างระยะเวลาอายุของสัญญา แนวคิดนี้สามารถพบเห็นได้ในการโฆษณาตามตลาดในลักษณะของ “ผู้จัดจำหน่ายแต่เพียงผู้เดียว” หรือ “ผู้จัดจำหน่ายแต่เพียงผู้เดียว” สำหรับสินค้าที่หรูหราหลายชนิดในประเทศไทย การอนุญาตให้ใช้สิทธิแบบที่มิได้เจาะจงไว้แต่เพียงผู้เดียวนั้นแตกต่างจากการอนุญาตให้ใช้สิทธิแต่เพียงผู้เดียว โดยในกรณีนี้นั้นผู้อนุญาตให้ใช้สิทธิสามารถอนุญาตให้ผู้รับอนุญาตหลายรายสามารถใช้สิทธิได้ บางรายอาจมีสิทธิที่คาบเกี่ยวกัน หรือใช้สิทธิได้ในอาณาเขตเดียวกันและในเวลาเดียวกัน ทั้งนี้ ในปัจจุบัน แม้ประเทศไทยไม่ได้กำหนดการอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์ต้องจดแจ้งที่กรมทรัพย์สินทางปัญญา การจดแจ้งนั้นยังคงเป็นสิ่งที่ปฏิบัติกันในวงการธุรกิจ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทางเราแนะนำให้มีการจดแจ้งเมื่อผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิในประเทศนั้นได้รับอนุญาตโดยเจ้าของสิทธิ เพื่อให้สามารถดำเนินคดีกับผู้ละเมิดลิขสิทธิ์ได้