การคุ้มครองสิทธิบัตร

การคุ้มครองสิทธิบัตรในประเทศไทย

อนันต์ดา อินเทลเลคชวล พร็อพเพอร์ตี้ ให้บริการลูกความของเราในการยื่นคำขอและดำเนินการเพื่อขอรับความคุ้มครองสิทธิบัตรการประดิษฐ์ (คำขอในประเทศและคำขอรับความคุ้มครองสิทธิบัตรระหว่างประเทศตามสนธิสัญญาความร่วมมือด้านสิทธิบัตร หรือ Patent Cooperation Treaty – PCT) อนุสิทธิบัตร และสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ในประเทศไทยและทุกประเทศทั่วโลก

ดังต่อไปนี้เป็นการตอบคำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิบัตรการประดิษฐ์ และอนุสิทธิบัตรในประเทศไทย สำหรับระยะเวลาความคุ้มครองสิทธิบัตรในประเทศไทยสามารถดูได้ ที่นี่ สำหรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ และสำหรับอนุสิทธิบัตรสามารถดูได้ ที่นี่ ในส่วนของคำแปลภาษาอังกฤษของพระราชบัญญัติสิทธิบัตรในประเทศไทยสามารถดูได้ ที่นี่

ผู้ประดิษฐ์ในประเทศมีการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็วดังเช่นประเทศไทย มักมีการประดิษฐ์คิดค้นเทคโนโลยีใหม่อยู่เสมออันพึงได้รับความคุ้มครองเพื่อจุดประสงค์ดังต่อไปนี้

  • คุ้มครองเพื่อการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา และเพื่อวัตถุประสงค์ในทางทรัพย์สินทางปัญญา
  • คุ้มครองเพื่อให้ได้เปรียบในการแข่งขันทางธุรกิจ และ
  • คุ้มครองเพื่อให้สามารถใช้ทรัพย์สินทางปัญญาในทางการค้า และสามารถได้รับผลกำไรจากการลงทุนได้

สิทธิบัตรสามารถตอบสนองวัตถุประสงค์เหล่านี้ได้ ด้วยการสิทธิบัตรจะให้ความคุ้มครองที่มีเวลาจำกัดกับงานนวัตกรรม โดยแลกกับการให้งานดังกล่าวถูกเปิดเผยต่อสาธารณะได้ในท้ายที่สุด แม้เป็นความคุ้มครองที่ดูไม่ซับซ้อน ทว่าสิทธิบัตรเป็นสิทธิที่รัฐให้การอนุญาตกับผู้ประดิษฐ์แต่เพียงผู้เดียว โดยให้การอนุญาตดังกล่าวมีระยะเวลาจำกัด และมีเงื่อนไขให้ในเวลาต่อมาสิทธิบัตรจำต้องถูกเปิดเผยต่อสาธารณะในวงกว้างและตกเป็นสมบัติสาธารณะในที่สุด

ข้อกำหนดในการยื่นขอรับสิทธิบัตร 

การยื่นคำขอจดทะเบียนสิทธิบัตรต้องประกอบด้วยคำบรรยายของการประดิษฐ์และมีข้อถือสิทธิในองค์ประกอบใดองค์ประกอบหนึ่งเป็นอย่างน้อย โดยข้อถือสิทธินี้ทำให้การประดิษฐ์หนึ่งๆ มีคุณค่าและมีความหมาย และต้องมีลักษณะอันพึงรับจดสิทธิบัตรได้ เช่น งานที่ขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์นั้นต้องมีความใหม่ และไม่เป็นที่ประจักษ์อยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ข้อกำหนดในการขอรับสิทธิบัตรย่อมแตกต่างกันไปสำหรับสิทธิบัตรแต่ละประเภท

ประโยชน์ของสิทธิบัตร คำแนะนำสำหรับเจ้าของ/ผู้ขอรับสิทธิบัตร 

[รายการในการตรวจสอบรับคำขอสิทธิบัตร]

  • ให้สิทธิแต่เพียงผู้เดียวแก่เจ้าของสิทธิบัตรในการดำเนินการ ใช้ จำหน่าย แจกจ่าย และใช้งานประดิษฐ์ที่ได้รับสิทธิบัตรแล้ว หรืองานออกแบบเพื่อวัตถุประสงค์ในทางการค้า 
  • ให้เจ้าของสามารถบังคับใช้สิทธิในสิทธิบัตรที่ได้รับความคุ้มครองแล้ว ทั้งนี้ เจ้าของสิทธิบัตรสามารถหวงห้ามมิให้ผู้อื่นใช้งานประดิษฐ์หรืองานออกแบบที่ได้รับสิทธิบัตรแล้วในระหว่างอายุความคุ้มครองของสิทธิบัตร
  • เมื่อมีการดำเนินการค้าอย่างเหมาะสม สิทธิบัตรที่ได้รับความคุ้มครองแล้วย่อมเป็นแหล่งรายได้ซึ่งเป็นสิทธิของเจ้าของสิทธิบัตรแต่เพียงผู้เดียว
  • รู้จักและประเมินงานประดิษฐ์หรืองานออกแบบของท่านอย่างถี่ถ้วนเพื่อให้สามารถกำหนดกลยุทธ์ในการขอรับความคุ้มครองสิทธิบัตรที่เหมาะสม
  • จัดให้มีการเก็บข้อมูลเกี่ยวกับงานประดิษฐ์และงานออกแบบไว้เป็นความลับ หากมีความจำเป็นต้องเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องก่อนยื่นคำขอจดสิทธิบัตร ควรมีสร้างมาตรการผ่านทางสัญญาการรักษาความลับ หรือมาตรการเก็บข้อมูลเป็นความลับด้วยวิธีอื่นใด 
  • โปรดทราบว่า ระบบการรับความคุ้มครองสิทธิบัตรของประเทศไทยนั้นใช้เป็นระบบการพิจารณา “ความใหม่โดยแท้” และ “ผู้ที่ยื่นก่อนย่อมมีสิทธิก่อน” ด้วยเหตุนี้งานประดิษฐ์ใหม่ควรมีการเก็บไว้เป็นความลับให้มิดชิดที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ จนกว่าจะได้กำหนดวันยื่นคำขอจดทะเบียนที่แน่นอน หากมีการเปิดเผยข้อมูลอาจทำให้เกิดความเสี่ยงที่คุณสมบัติ “ความใหม่โดยแท้” จะหมดสิ้นไปซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในความคุ้มครอง
  • ตรวจสอบฐานข้อมูลสิทธิบัตรเพื่อค้นหาว่างานดังกล่าวเป็นงานประดิษฐ์ที่ปรากฏอยู่แล้วหรือไม่ และตรวจสอบเฝ้าระวังกิจกรรมทางการค้าของคู่แข่ง
  • ตรวจสอบลักษณะของงานว่าเป็นงานอันสามารถขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ หรือสิทธิบัตรออกแบบหรือไม่ โดยขอคำแนะนำจากตัวแทน/ทนายความสิทธิบัตรในพื้นที่
  • ทำให้การดำเนินการยื่นขอจดทะเบียนสิทธิบัตรในประเทศไทยได้รับการอนุญาตโดยเร็วที่สุด โดยการเตรียมสำเนารายงานผลการสืบค้นสิทธิบัตรในต่างประเทศ หรือ คำขอสิทธิบัตรที่เกี่ยวข้องไว้ให้พร้อม 

เนื่องจากความคุ้มครองสิทธิบัตรนั้นมอบสิทธิในการใช้ ผลิต และจำหน่ายงานประดิษฐ์ให้แก่เจ้าของสิทธิบัตรแต่เพียงผู้เดียว ทำให้ข้อกำหนดในการได้รับความคุ้มครองสิทธิบัตรมีรายละเอียดมากกว่าสิทธิทางทรัพย์สินทางปัญญาประเภทอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สิทธิบัตรการประดิษฐ์ที่มีรายละเอียดค่อนข้างมาก โดยพระราชบัญญัติสิทธิบัตรไทยให้ความคุ้มครองแก่สิทธิบัตรแยกเป็น 3 ประเภท

ในลำดับแรกย่อมต้องมีการพิจารณาว่างานประดิษฐ์หรืองานออกแบบนั้นมีคุณสมบัติที่เหมาะสมกับสิทธิในการขอรับความคุ้มครองสิทธิบัตรประเภทใดจาก 3 ประเภท โดยการคุ้มครองสิทธิบัตรภายใต้กฎหมายไทยแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท ได้แก่ สิทธิบัตรการประดิษฐ์ อนุสิทธิบัตร และสิทธิบัตรการออกแบบ (หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์) สิทธิบัตรการประดิษฐ์มีข้อกำหนดในการขอรับความคุ้มครองที่เข้มงวดที่สุด ตามด้วยอนุสิทธิบัตร และสิทธิบัตรการออกแบบตามลำดับ 

สิทธิบัตรการประดิษฐ์กำหนดให้การประดิษฐ์ต้องมีความใหม่ ไม่เป็นที่ประจักษ์โดยง่าย และประยุกต์ใช้ได้ในทางอุตสาหกรรม สำหรับอนุสิทธิบัตรและสิทธิบัตรการออกแบบกำหนดเพียงความใหม่และสามารถประยุกต์ใช้ได้ในทางอุตสาหกรรมเท่านั้น ทว่าไม่ได้กำหนดเรื่องการไม่เป็นที่ประจักษ์โดยง่าย

ความแตกต่างระหว่างสิทธิบัตรการประดิษฐ์และอนุสิทธิบัตรอันเกี่ยวกับความเป็นที่ประจักษ์โดยง่ายคือ สิทธิบัตรการประดิษฐ์ต้องมีลักษณะอันไม่เป็นที่ประจักษ์โดยง่าย แต่อนุสิทธิบัตรและสิทธิบัตรการออกแบบไม่จำเป็นต้องมีลักษณะดังกล่าว อย่างไรก็ตามสิทธิบัตรการออกแบบ (หรือเรียกว่า การออกแบบผลิตภัณฑ์) จำต้องมีลักษณะของการตกแต่งหรือความสวยงามของรูปทรง แบบหรือโครงสร้าง หรือลวดลายที่ปรากฏบนงาน ดังนั้นสิทธิบัตรประเภทนี้จึงแตกต่างจากอนุสิทธิบัตรและสิทธิบัตรการประดิษฐ์โดยสิ้นเชิง 

ทางเราขอนำเสนอตารางสรุปความแตกต่างระหว่างสิทธิบัตรทั้ง 3 ประเภท ดังนี้

ข้อกำหนดลักษณะอันพึงได้รับความคุ้มครองสิทธิบัตร ความคุ้มครองที่ได้รับ
ประเภทสิทธิบัตร ความใหม่ ความสามารถในการประยุกต์ใช้ทางอุตสาหกรรม ขั้นการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น: การไม่เป็นที่ประจักษ์โดยง่าย ระยะเวลาการคุ้มครอง

(ไม่สามารถต่ออายุความคุ้มครอง)

ขอบเขตความคุ้มครอง
สิทธิบัตรการประดิษฐ์ จำเป็น จำเป็น จำเป็น 20 ปี ผลิตภัณฑ์หรือกระบวนการซึ่งมีความใหม่และสามารถประยุกต์ใช้ทางอุตสาหกรรมได้ ตัวอย่างเช่น ระบบปฏิบัติการใหม่หรือการพัฒนาขึ้นใหม่ที่เกี่ยวข้องกับสาขาดังต่อไปนี้ เครื่องกลเครื่องมือ เคมี เทคโนโลยีชีวภาพ ฯลฯ
อนุสิทธิบัตร จำเป็น จำเป็น ไม่จำเป็น 10 ปี การประดิษฐ์ขึ้นใหม่ซึ่งสามารถยื่นขอรับความคุ้มครองสิทธิบัตรการประดิษฐ์ได้ แต่ขาดขั้นความเป็นนวัตกรรมเชิงเทคนิค โดยให้จำกัดข้อถือสิทธิเพียง 10 ข้อ
สิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ จำเป็น จำเป็น ไม่จำเป็น 10 ปี มีลักษณะเป็นการประดับหรือทำให้รูปลักษณ์ โครงสร้าง หรือมีลวดลายที่สวยงาม

 

ในลำดับต่อมาคือ หลังจากมีการพิจารณาคุณสมบัติตามข้อกำหนดเพื่อขอรับความคุ้มครองสิทธิบัตร คือ การพิจารณาว่างานที่ยื่นขอรับสิทธิบัตรนั้นมีคุณสมบัติถูกต้องตามข้อกำหนดหรือไม่

คุณสมบัติเกี่ยวกับความใหม่เป็นคุณสมบัติที่สำคัญที่สุดในการยื่นขอรับความคุ้มครองสิทธิบัตรทั้ง 3 ประเภทในประเทศไทย กฎหมายไทยวางหลักไว้อย่างชัดเจนว่า งานประดิษฐ์มีลักษณะดังต่อไปนี้ กล่าวคือ ประกอบด้วยภาคส่วนที่เป็นศิลปะหรือวิทยาการที่มีอยู่แล้วในขณะนั้น (State of the Art) อันรวมไปถึงการประดิษฐ์ที่มีลักษณะดังต่อไปนี้ให้ถือว่าขาดความใหม่ 

  • การประดิษฐ์ซึ่งเป็นที่รู้จักในวงกว้างหรือมีบุคคลอื่นใช้อยู่แล้วในประเทศก่อนวันที่ยื่นขอรับสิทธิบัตร
  • มีการบรรยายการประดิษฐ์ในเอกสารหรือสิ่งพิมพ์ที่เปิดเผยต่อสาธารณะในประเทศไทย หรือในต่างประเทศก่อนวันที่ยื่นขอรับสิทธิบัตร (เช่น ในสิ่งพิมพ์ทางวิทยาศาสตร์หรือในวิทยานิพนธ์)
  • การประดิษฐ์ที่ได้รับจดทะเบียนสิทธิบัตรแล้วในประเทศไทยหรือในต่างประเทศ
  • การประดิษฐ์ซึ่งยื่นคำขอรับสิทธิบัตรในต่างประเทศไว้ซึ่งวันที่ยื่นคำขอนั้นนับเป็นระยะเวลายาวนานกว่า 18 เดือน ก่อนวันที่ยื่นคำขอรับสิทธิบัตรในประเทศไทย
  • การประดิษฐ์ที่ยื่นคำขอรับสิทธิบัตรในประเทศไทย หรือในต่างประเทศ และคำขอรับสิทธิบัตรดังกล่าวประกาศโฆษณา ก่อนวันยื่นคำขอจดทะเบียนสิทธิบัตรในประเทศไทย 

ดังที่ได้ยกมาข้างต้นจะเห็นได้ว่า ผู้ตรวจสอบสิทธิบัตรนั้นไม่ได้ประเมินความใหม่ของการประดิษฐ์จากเพียงการประดิษฐ์ที่ได้รับความคุ้มครองในประเทศเท่านั้น แต่ได้ดำเนินการตรวจสอบความใหม่ผ่านฐานข้อมูลสิทธิบัตรระหว่างประเทศ และคำขอรับความคุ้มครองสิทธิบัตรในต่างประเทศเช่นกัน และบ่อยครั้งมักพบว่า ผู้ตรวจสอบสิทธิบัตรได้ดำเนินการสืบค้นข้อมูลจากเอกสารอื่นที่เกี่ยวข้อง (สิ่งพิมพ์ งานวิจัย และข้อมูลที่พบได้ทางออนไลน์) เพื่อตรวจสอบความใหม่เช่นเดียวกัน

สำหรับเจ้าของสิทธิบัตรที่ประสงค์ขอรับความคุ้มครองสิทธิบัตรภายใต้กฎหมายของประเทศไทยนั้น ต้องมีการตรวจสอบให้แน่ชัดว่าข้อมูลสิทธิบัตรถูกเก็บไว้เป็นความลับอย่างมิดชิดก่อนวันที่ขอจดทะเบียน เว้นแต่ได้มีการทำสัญญาไม่เปิดเผยข้อมูลระหว่างบุคคลตามความเหมาะสมแล้ว เช่นนั้นอาจสามารถเปิดเผยการประดิษฐ์หรือการค้นพบใหม่อันอาจทำให้ผลงานที่จะยื่นขอจดทะเบียนตกเป็น “ศิลปะหรือวิทยาการที่มีอยู่ในขณะนั้น (State of the Art)” ซึ่งอาจมีความเสี่ยงที่จะสามารถกระทบสิทธิของผู้ขอรับสิทธิบัตรและต่อความใหม่ของงานที่ขอรับสิทธิบัตร

สิทธิบัตรทั้ง 3 ประเภทจะต้องผ่านข้อกำหนดการประยุกต์ใช้ในทางอุตสาหกรรมซึ่งแตกต่างจากข้อกำหนดเรื่องความใหม่ โดยปกติการประดิษฐ์นั้นมักบรรลุข้อกำหนดด้านการประยุกต์ใช้ในทางอุตสาหกรรมได้โดยง่าย เนื่องจากผู้ตรวจสอบสิทธิบัตรไทยมีการตีความที่ค่อนข้างกว้างในแง่การประยุกต์ใช้ทางอุตสาหกรรม และการใช้การประดิษฐ์ในบริบททางการค้าย่อมเป็นเหตุผลที่เพียงพอต่อการอนุญาตแล้ว การประดิษฐ์ใดก็ตามจะถือว่าเป็นการประยุกต์ใช้ในทางอุตสาหกรรมต่อเมื่อมีการสร้างหรือใช้งานในอุตสาหกรรมประเภทใดก็ตาม รวมไปถึง งานหัตถกรรม เกษตรกรรม หรือการพาณิชย์ อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตอยู่ว่า การประดิษฐ์ที่เป็นเพียงการประยุกต์ใช้ในทางวิชาการหรือทางทฤษฎี ที่ไม่มีการใช้งานทางอุตสาหกรรมหรือไม่ เพราะหากเป็นเช่นนั้นจะถือว่าไม่มีคุณสมบัติตามข้อกำหนดนี้

ขั้นการประดิษฐ์ที่สูงขึ้นอันไม่เป็นที่ประจักษ์โดยง่ายเป็นข้อกำหนดสำหรับสิทธิบัตรประเภทเดียวเท่านั้น แต่เป็นประเภท สิทธิบัตรที่สร้างกำไรสูงที่สุด อันได้แก่ สิทธิบัตรการประดิษฐ์ การประเมินว่าการประดิษฐ์เป็นไปตามข้อกำหนดนี้หรือไม่นั้นค่อนข้างยากและขึ้นอยู่กับแต่ละการประดิษฐ์และดุลยพินิจของผู้ตรวจสอบ กฎหมายประเทศไทยวางหลักไว้เพียงผิวเผินว่าการประดิษฐ์จะถือว่าเป็นการประดิษฐ์ขั้นสูง หาก “ไม่มีลักษณะพื้นฐานจนเกินไป หรือเป็นที่ประจักษ์ต่อผู้มีความเชี่ยวชาญในแขนงนั้น” 

นอกจากนี้ คู่มือการตรวจสอบคำขอรับสิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตรนั้นวางหลักไว้ด้วยว่า การประดิษฐ์ต้องสร้างประโยชน์หรือสร้างการพัฒนาผลลัพธ์ในการใช้งานให้ดียิ่งขึ้น อย่างน้อยตามลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้:

  1. งานอันเป็นผลมาจากการออกแบบ/โครงสร้าง
  2. งานปฏิบัติการ
  3. งานอันมีผลมาจากการคัดเลือกวัสดุเพื่อการประดิษฐ์ 
  4. งานซึ่งมีการกำหนดปัญหาและวิธีการแก้ไข
  5. งานอันมีแรงจูงใจในการประดิษฐ์
  6. งานอันไม่สามารถลอกเลียนแบบได้ง่าย
  7. งานที่มุ่งเน้นไปที่การลำดับขั้นการพัฒนา 
  8. งานที่สามารถก่อให้เกิดความสำเร็จเชิงเศรษฐกิจ
  9. การวิจัยเชิงเทคนิควิทยาศาสตร์ 
  10. งานอันเป็นผลมาจากการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
  11. งานที่แสดงความสำเร็จของการประดิษฐ์ 
  12. งานอันมีส่วนประกอบที่ไม่สามารถทดแทนหรือเปลี่ยนแปลงได้ หรือ
  13. งานอันแสดงผลลัพธ์ที่น่าประทับใจ/ เกินความคาดหมาย

ภายในคู่มือยังระบุเพิ่มเติมไว้ด้วยว่า ให้ผู้ตรวจสอบสิทธิบัตรของไทยศึกษารายงานการสืบค้นที่ออกให้แก่คำขอรับสิทธิบัตรเดียวกันในประเทศอื่นประกอบด้วย ทั้งนี้ โดยส่วนมากคำขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ที่ยื่นไว้ในประเทศไทย ผู้ขอมักยื่นขอรับสิทธิบัตรเดียวกันไว้ในประเทศอื่นเช่นเดียวกัน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นประเทศสหรัฐอเมริกา ทวีปยุโรป ประเทศญี่ปุ่น หรือสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยปกติผู้ตรวจสอบสิทธิบัตรของไทยจะอ้างอิงตามรายงานการสืบค้นของต่างประเทศและการขอรับสิทธิบัตรที่เกี่ยวข้องในประเทศอื่นๆ เพื่อพิจารณาว่าคำขอรับสิทธิบัตรไทยเป็นไปตามข้อกำหนดขั้นการประดิษฐ์ที่สูงขึ้นหรือไม่ อย่างไรก็ตาม หากงานเดียวกันที่ขอรับสิทธิบัตรไว้ในต่างประเทศนั้นได้รับจดทะเบียนในต่างประเทศแล้วย่อมไม่ถือว่าเป็นการเปิดเผยความลับอันจะทำให้ขาดคุณสมบัติเกี่ยวกับความใหม่

การประดิษฐ์ดังต่อไปนี้ไม่มีคุณสมบัติอันจะสามารถรับความคุ้มครองสิทธิบัตรในประเทศไทยได้: 

  • จุลินทรีย์และส่วนประกอบส่วนหนึ่งส่วนใดของจุลินทรีย์ที่มีอยู่ตามธรรมชาติ สัตว์ พืช หรือสารสกัดจากสัตว์หรือพืช
  • กฎเกณฑ์และทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์
  • โปรแกรมคอมพิวเตอร์ (ซึ่งอยู่ในขอบข่ายความคุ้มครองลิขสิทธิ์)
  • วิธีการวินิจฉัย บำบัด หรือรักษาโรคมนุษย์หรือสัตว์
  • การประดิษฐ์ที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี อนามัย หรือสวัสดิภาพของประชาชน

การยื่นขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ในประเทศไทยนั้นสามารถดำเนินการยื่นผ่าน 2 ระบบการยื่นขอจดทะเบียนหลัก ดังต่อไปนี้ 

  • ยื่นคำขอจดทะเบียนในประเทศ (ยื่นครั้งแรกในประเทศไทย หรือภายใน 12 เดือนนับจากวันที่ได้ยื่นคำขอรับสิทธิบัตรเดียวกันในต่างประเทศ) หรือ
  • ยื่นคำขอจดทะเบียนผ่านระบบสนธิสัญญาความร่วมมือด้านสิทธิบัตร (“PCT”) ซึ่งให้ความคุ้มครองสิทธิบัตรในลักษณะดังต่อไปนี้:
  1. สำหรับการประดิษฐ์ที่ยื่นขอรับความคุ้มครองในประเทศไทย และในประเทศที่เป็นภาคีของสนธิสัญญาความร่วมมือด้านสิทธิบัตรตามที่เลือกไว้ใน “คำขอรับสิทธิบัตรระหว่างประเทศ” โดยยื่นต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญาประเทศไทย หรือสำนักงานระหว่างประเทศขององค์กรทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO) หรือ
  2. สำหรับการประดิษฐ์ที่ยื่นขอรับความคุ้มครองในประเทศที่เป็นภาคีของสนธิสัญญาความร่วมมือด้านสิทธิบัตร หรือ ยื่นต่อสำนักงานระหว่างประเทศขององค์กรทรัพย์สินทางปัญญาโลกไว้แล้ว และต้องการยื่นขอรับความคุ้มครองสำหรับการประดิษฐ์เดียวกันในประเทศไทย (เรียกขั้นตอนนี้ว่า “ขั้นตอนในประเทศ (National Phase)”)  

โดยในที่นี้ ไม่ว่าคำขอรับสิทธิบัตรจะยื่นตามระบบในประเทศหรือระหว่างประเทศ คำขอรับสิทธิบัตรจำเป็นต้องมีคำบรรยายโดยละเอียดของการประดิษฐ์ เพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญในแขนงนั้นสามารถเข้าใจและประดิษฐ์ได้ และจำต้องประกอบด้วยคำบรรยายในส่วนการประดิษฐ์ที่ดีที่สุดของงาน อย่างไรก็ตาม การขอรับสิทธิบัตรในต่างประเทศอาจไม่ได้กำหนดไว้ให้มีการบรรยายโดยละเอียดเช่นนี้

นอกจากนี้ คำขอรับสิทธิบัตรต้องประกอบด้วยบทสรุปการประดิษฐ์ ชื่อการประดิษฐ์ และรูปเขียนเพื่อประกอบรายละเอียดการประดิษฐ์นั้น ๆ (ถ้ามี) และข้อถือสิทธิ 

ข้อถือสิทธิจะต้องชัดเจนและกระชับเพื่อระบุสิทธิแต่เพียงผู้เดียวของผู้ทรงสิทธิบัตรที่มีต่อการประดิษฐ์นั้น ๆ 

เนื่องจากข้อมูลทั้งหมดในคำขอรับสิทธิบัตรต้องระบุเป็นภาษาไทยและยื่นไว้ต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญา ด้วยเหตุนี้ คุณภาพของคำแปลจากภาษาอื่น ๆ เป็นภาษาไทยในคำขอรับสิทธิบัตรจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง แผนผังด้านล่างเป็นแผนผังแสดงภาพรวมโดยย่อของขั้นตอนการจดทะเบียนสิทธิบัตรในประเทศไทย

ขั้นตอนการจดทะเบียนการยื่นขอรับจดทะเบียนสิทธิบัตรการประดิษฐ์ (คำขอภายในประเทศ-แบบย่อ)

ระยะเวลาที่ยาวนานในการตรวจสอบคำขอสิทธิบัตรการประดิษฐ์เป็นหนึ่งในอุปสรรคที่ใหญ่ที่สุดในการยื่นคำขอรับสิทธิบัตรในประเทศไทย บ่อยครั้งที่ระยะเวลาการตรวจสอบคำขอรับสิทธิบัตรอาจใช้เวลานานถึง 10 ปี โดยเฉพาะคำขอที่ผู้ขอไม่ได้ยื่นคำขอต่างประเทศที่เกี่ยวข้องสนับสนุน ความล่าช้านั้นเกิดขึ้นบ่อยครั้งเนื่องจากคำขอรับสิทธิบัตรที่ค้างรอการตรวจสอบในประเทศไทยนั้นมีปริมาณมาก อย่างไรก็ตาม แม้การตรวจสอบคำขอจะมีความล่าช้า แต่การยื่นขอรับสิทธิบัตรยังคงมีความจำเป็นและมีประโยชน์ หากผู้ขอรับสิทธิบัตรนั้นทราบข้อมูลและขั้นตอนการตรวจสอบสิทธิบัตร มีการเตรียมพร้อมและมีการแนะแนวเกี่ยวกับระบบการยื่นขอไว้อย่างเพียงพอ ย่อมทำให้ผู้ขอสามารถเข้าใจกระบวนการต่างๆ ที่ซับซ้อนได้ ด้วยเหตุที่การยื่นขอรับจดทะเบียนสิทธิบัตรตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตรเป็นวิธีเดียวที่จะสามารถคุ้มครองสิทธิบัตรได้ ประการที่สำคัญที่สุดคือการเตรียมพร้อม ซึ่งหากมีความพร้อมแล้วย่อมคุ้มค่ายิ่งกว่าการจงใจหลีกเลี่ยงความยุ่งยากจากการไม่ยื่นขอรับสิทธิบัตรเสียเลย

ระยะเวลาการตรวจสอบสิทธิบัตรอันยาวนานข้างต้นนั้น มักพบได้ในกรณีสิทธิบัตรการประดิษฐ์เท่านั้น ระยะเวลาการตรวจสอบสำหรับอนุสิทธิบัตรและสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์นั้นใช้ระยะเวลาสั้นกว่าอย่างมีนัยสำคัญ

การยื่นขอรับอนุสิทธิบัตร (เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า Utility models ในต่างประเทศ) เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการยื่นขอรับความคุ้มครองการประดิษฐ์ อนุสิทธิบัตรนั้นให้สิทธิความคุ้มครองการประดิษฐ์ที่ใหม่และสามารถประยุกต์ใช้ในทาง แต่ไม่จำต้องพิจารณาในแง่ของความไม่เป็นที่ประจักษ์และขั้นการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น และยังมีข้อกำหนดที่ผ่อนปรนมากกว่าอีกด้วย อย่างไรก็ตาม อนุสิทธิบัตรให้ความคุ้มครองการประดิษฐ์เพียง 10 ปีเท่านั้น แตกต่างจากความคุ้มครองสิทธิบัตรการประดิษฐ์ที่มีระยะเวลาความคุ้มครอง 20 ปี

อนุสิทธิบัตรนั้นได้รับความนิยมในประเทศไทย โดยเฉพาะในบริษัทที่ไม่มีความประสงค์คุ้มครองการประดิษฐ์มากกว่า 10 ปี

การขอรับความคุ้มครองอนุสิทธิบัตรมักได้รับจดทะเบียนภายในหนึ่งปีครึ่งนับจากวันที่ยื่นขอ เนื่องจากผู้ตรวจสอบอนุสิทธิบัตรจะดำเนินการตรวจสอบเบื้องต้นเท่านั้น และไม่จำเป็นต้องมีการตรวจสอบรายละเอียดการประดิษฐ์

แผนผังด้านล่างเป็นภาพรวมของขั้นตอนการจดทะเบียนสิทธิบัตรในประเทศสำหรับอนุสิทธิบัตรในประเทศไทย

ขั้นตอนการรับจดทะเบียนอนุสิทธิบัตร (แบบย่อ)

สิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์นั้นได้รับความนิยมมากในประเทศไทย ทั้งในกลุ่มผู้ขอรับสิทธิบัตรชาวไทยและชาวต่างชาติ ทั้งนี้ จุดประสงค์ของสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์นั้นมีไว้เพื่อคุ้มครองลักษณะด้านการตกแต่งหรือความสวยงามของรูปลักษณ์ รวมถึงรูปทรง โครงสร้าง หรือลวดลายต่าง ๆ

กฎหมายสิทธิบัตรไทยได้กำหนดไว้ว่า ผู้ขอต้องยื่นคำขอรับสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์สำหรับงานออกแบบเดียวต่อคำขอดังนั้นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาที่ประสงค์ขอรับความคุ้มครองสำหรับส่วนการออกแบบมากกว่าหนึ่งองค์ประกอบ เช่น ลวดลายเพิ่มเติม หรือลวดลายเสริมที่ใช้แทนลวดลายเดิม จำต้องยื่นคำขอรับสิทธิบัตรแยกสำหรับองค์ประกอบเสริมหรืองานออกแบบมากกว่าหนึ่งงานที่ต้องการขอรับความคุ้มครอง

คำขอรับสิทธิบัตรการออกแบบต้องประกอบด้วยรูปภาพที่อธิบายงานออกแบบในหลากหลายมุมมอง อันได้แก่ มุมมองสองมิติและมุมมองสามมิติ เช่น มุมมองจากด้านหน้า ด้านหลัง ด้านขวา ด้านซ้าย ด้านล่าง ด้านบน และจากมุมที่แสดงให้เห็นถึงระยะภาพโดยรวม (perspective view) โดยสามารถยื่นภาพวาดหรือรูปภาพประกอบคำขอเพื่อแสดงมุมมองงานออกแบบดังกล่าว

การออกแบบรองเท้ายี่ห้อ Crocs ® ซึ่งนำไปใช้กับเคสโทรศัพท์มือถือและผลิตเป็นสินค้าที่ใช้ได้จริง

แผนผังด้านล่างแสดงภาพรวมโดยย่อของขั้นตอนการจดทะเบียนสิทธิบัตรออกแบบในประเทศไทย

 ขั้นตอนการขอรับจดทะเบียนสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ (โดยย่อ)